ประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกสำหรับพนักงานเทศบาล
****************************
****************************
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 (5) ประกอบมาตรา 24 วรรคเจ็ด แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และข้อ 5 แห่งประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือก การบรรจุและแต่งตั้ง การย้าย การโอน การรับโอน การเลื่อนระดับและการเลื่อนขั้นเงินเดือน ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 และคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ในการประชุม ครั้งที่ 5/2545 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2545ได้มีมติกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกสำหรับพนักงานเทศบาล ไว้ดังต่อไปนี้
1. การคัดเลือกพนักงานเทศบาลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นให้ดำเนินการได้ 6 กรณี ดังนี้
(1) การคัดเลือกพนักงานเทศบาล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นในระดับควบ สำหรับตำแหน่งที่กำหนดเป็นตำแหน่งระดับควบ
(2) การคัดเลือกพนักงานเทศบาล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น นอกระดับควบ สำหรับตำแหน่งที่กำหนดเป็นตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์
(3) การคัดเลือกพนักงานเทศบาลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นนอก ระดับควบ สำหรับตำแหน่งในสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะหรือ เชี่ยวชาญเฉพาะ
(4) การคัดเลือกพนักงานเทศบาล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น สำหรับตำแหน่งผู้บริหารของเทศบาล
(5) การคัดเลือกพนักงานครูเทศบาลเพื่อเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นสำหรับตำแหน่งในสายงานศึกษานิเทศก์
(6) การคัดเลือกพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษาเพื่อเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น
2. การคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นในระดับควบ สำหรับตำแหน่งที่กำหนดเป็นตำแหน่งระดับควบ ตามข้อ 1 (1) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลมอบให้เทศบาล เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก
การคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง ให้เทศบาลดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลกำหนด ภายใต้กรอบกำหนด ดังนี้
(1) พนักงานผู้นั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่จะแต่งตั้งและตามประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น
(2) ให้ดำเนินการคัดเลือกโดยวิธีการประเมินบุคคล และประเมินผลการปฏิบัติงานที่ ผ่านมาของพนักงานเทศบาลผู้นั้น
(3) ให้เทศบาลกำหนดแบบประเมินบุคคลและประเมินผลการปฏิบัติงานตาม (2)โดยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับการประเมิน
หน้าที่ความรับผิดชอบและความรู้ความสามารถที่ต้องการของตำแหน่ง ที่จะประเมิน
การประเมินผลการปฏิบัติงานและคุณลักษณะของบุคคลเพื่อเลื่อนตำแหน่ง
สรุปความเห็นในการประเมินของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น
(4) เกณฑ์การตัดสินการประเมินว่าพนักงานเทศบาลที่จะผ่านการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ต้องมีมาตรฐานเทียบได้ไม่ต่ำกว่าที่ ก.พ.หรือ ก.ค. กำหนดไว้เป็นมาตรฐานสำหรับข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการครู
(5) ให้นายกเทศมนตรีพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น โดยความ เห็นชอบของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล
3. การคัดเลือก เพื่อแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น นอกระดับควบ สำหรับตำแหน่งที่กำหนดเป็นตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ตามข้อ 1 (2) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก
การคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลกำหนด ภายใต้กรอบกำหนด ดังนี้
(1) พนักงานผู้นั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่จะแต่งตั้งและตามประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น
(2) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลงาน จำนวน ไม่น้อยกว่า 5 คน ประกอบด้วย กรรมการในคณะกรรมการพนักงานเทศบาลเป็นประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในตำแหน่งนั้น ๆ หรือมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น ๆ เป็นกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่งตั้งเลขานุการหนึ่งคน
(3) ให้ดำเนินการคัดเลือกโดยการพิจารณาคุณสมบัติของบุคคล ประเมินคุณลักษณะ ของบุคคล และประเมินผลงานที่ผ่านมาของพนักงานเทศบาลผู้นั้น
(4) ให้คณะกรรมการประเมินผลงานตาม (2) กำหนดแบบ และวิธีการประเมินคุณสมบัติของบุคคล คุณลักษณะของบุคคล และประเมินผลงาน ตาม (3) โดยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับการประเมิน
หน้าที่ความรับผิดชอบและความรู้ความสามารถที่ต้องการของตำแหน่ง ที่จะประเมิน
การประเมินการปฏิบัติงานและคุณลักษณะของบุคคลเพื่อเลื่อนตำแหน่ง
เอกสารแสดงผลการปฏิบัติงานหรือผลงานทางวิชาการ
สรุปความเห็นในการประเมินของคณะกรรมการประเมิน
(5) เกณฑ์การตัดสินการประเมินว่าพนักงานเทศบาลที่จะผ่านการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ต้องมีมาตรฐานเทียบได้ไม่ต่ำกว่าที่ ก.พ. หรือ ก.ค. กำหนดไว้เป็นมาตรฐานสำหรับข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการครู
(6) ให้นายกเทศมนตรีพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล
4. การคัดเลือก เพื่อแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นนอกระดับควบ สำหรับตำแหน่งที่กำหนดเป็นตำแหน่งสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ตามข้อ 1 (3) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการ
การคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลกำหนด ภายใต้กรอบกำหนด ดังนี้
(1) พนักงานผู้นั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่จะแต่งตั้งและตามประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น
(2) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลงาน จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน ดังนี้
(ก) กรณีเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะตั้งแต่ระดับ 7 ลงมา ให้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลงาน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพนักงานเทศบาลเป็นประธานกรรมการ และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่มีความรู้ความสามารถในสาขานั้นหรือด้านวิชาชีพเฉพาะนั้น เป็นกรรมการ โดยให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่งตั้งเลขานุการหนึ่งคน
(ข) กรณีเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะระดับ 8 ขึ้นไป หรือ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเชี่ยวชาญเฉพาะระดับ 9 ขึ้นไป ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลงาน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในงานด้านวิชาชีพนั้นโดยเฉพาะ หรือมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญ ในงานด้านนั้นโดยเฉพาะตามที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลกำหนด โดยให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่งตั้งเลขานุการ
(3) ให้ดำเนินการคัดเลือกโดยการพิจารณาคุณสมบัติของบุคคล ประเมินคุณลักษณะ ของบุคคล และประเมินผลงานของพนักงานเทศบาลผู้นั้น
(4) ให้คณะกรรมการประเมินผลงานตาม (2) กำหนดแบบ และวิธีการประเมิน คุณสมบัติของบุคคล คุณลักษณะของบุคคล และประเมินผลงาน ตาม (3) โดยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(ก) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับการประเมิน
(ข) หน้าที่ความรับผิดชอบและความรู้ความสามารถที่ต้องการของตำแหน่งที่จะประเมิน
(ค) การประเมินการปฏิบัติงานและคุณลักษณะของบุคคลเพื่อเลื่อนตำแหน่ง
(ง) เอกสารแสดงผลงานทางวิชาการในตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะและตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานเทศบาล
(จ) สรุปความเห็นในการประเมินของคณะกรรมการประเมิน
(5) เกณฑ์การตัดสินการประเมินว่าพนักงานเทศบาลที่จะผ่านการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ต้องมีมาตรฐานเทียบได้ไม่ต่ำกว่าที่ ก.พ. กำหนดไว้เป็นมาตรฐานสำหรับข้าราชการพลเรือน
(6) ให้นายกเทศมนตรีพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล
5. การคัดเลือก เพื่อแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น สำหรับตำแหน่งผู้บริหารของเทศบาล ตามข้อ 1 (4) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก
การคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลกำหนด ภายใต้กรอบกำหนด ดังนี้
(1) พนักงานเทศบาลผู้นั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง และตามประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น
(2) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก จำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพนักงานเทศบาลเป็นประธานกรรมการ นายกเทศมนตรีของเทศบาลที่มีตำแหน่งว่างที่จะทำการคัดเลือก ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น เป็นกรรมการ โดยให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่งตั้งเลขานุการคนหนึ่ง
(3) หลักสูตรและวิธีการคัดเลือก คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกในแต่ละตำแหน่งให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดท้ายนี้
(4) คณะกรรมการคัดเลือกอาจตั้งกรรมการสัมภาษณ์ กรรมการประเมินความ
เหมาะสมกับตำแหน่ง หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการคัดเลือกได้ตามความจำเป็น
(5) ให้คณะกรรมการคัดเลือกกำหนดวัน เวลา สถานที่ดำเนินการคัดเลือกและระเบียบเกี่ยวกับการคัดเลือกได้เท่าที่จำเป็น และไม่ขัดต่อเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกนี้ แล้วให้ประธานกรรมการประกาศก่อนวันดำเนินการคัดเลือกไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ
(6) ให้คณะกรรมการคัดเลือกประกาศรับสมัครการคัดเลือก โดยระบุรายละเอียด ในเรื่อง ชื่อตำแหน่งที่จะดำเนินการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้ง คุณสมบัติทั่วไปและคุณสมบัติเฉพาะของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกสำหรับตำแหน่งนั้น วัน เวลา และสถานที่รับสมัคร เอกสารและหลักฐานที่ใช้ ในการสมัคร เกณฑ์และวิธีการคัดเลือก การประกาศผลการคัดเลือก และเรื่องอื่น ๆ หรือข้อความอื่นที่ ผู้สมัครควรทราบ โดยให้ปิดประกาศรับสมัครการคัดเลือกนั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานที่รับสมัคร และ ให้แจ้งคณะกรรมการพนักงานเทศบาลทุกจังหวัดและสำนักงาน ก.ท. ทราบ หรือจะประกาศทางวิทยุกระจายเสียงหรือทางอื่นใดตามความเหมาะสมเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกันก่อนวันที่เริ่มรับสมัคร
(7) ให้คณะกรรมการคัดเลือกจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับสมัคร โดยให้มีกำหนดเวลารับ สมัครเข้ารับการคัดเลือกไม่น้อยกว่า 15 วันทำการ
(8) ให้คณะกรรมการคัดเลือกประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกก่อนวัน ดำเนินการคัดเลือกไม่น้อยกว่า 10 วันทำการ
(9) ให้นายกเทศมนตรีแต่งตั้งผู้ได้รับคัดเลือก ให้ดำรงตำแหน่งบริหารของเทศบาล ตามลำดับที่ในประกาศผลการคัดเลือก โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล
(10) ในกรณีที่มีผู้ผ่านการคัดเลือกมากกว่าจำนวนตำแหน่งว่าง และภายหลังมี ตำแหน่งว่างเพิ่มอีก ก็อาจให้เทศบาลแต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกที่เหลืออยู่ในลำดับที่ ถัดไปตามประกาศผลการคัดเลือกนั้นให้ดำรงตำแหน่งได้ หรืออาจดำเนินการคัดเลือกใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ ให้อยู่ใน ดุลยพินิจของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล
(11) เมื่อมีการดำเนินการคัดเลือก ตามที่กำหนดในข้อ 5 นี้ ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาล ดำเนินการดังนี้
(11.1) แจ้งสำเนาประกาศรับสมัครเข้ารับการคัดเลือกจำนวน 1 ชุด ให้คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ก่อนวันเริ่มรับสมัครไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ
(11.2) เมื่อได้มีการดำเนินการคัดเลือกเสร็จสิ้นแล้วให้แจ้งสำเนาประกาศผล การคัดเลือกจำนวน 1 ชุด ให้คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลภายใน 5 วัน นับแต่วันประกาศผลการคัดเลือก
(11.3) หากมีการเปลี่ยนแปลงในการประกาศรับสมัครเข้ารับการคัดเลือก ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก กำหนดวัน เวลา และสถานที่ดำเนินการคัดเลือก ประกาศผลการคัดเลือกและอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดไว้เดิมให้รายงานสำนักงาน ก.ท. ภายใน 3 วัน
6. การคัดเลือกพนักงานครูเทศบาลเพื่อเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นสำหรับตำแหน่งในสายงานศึกษานิเทศก์ ตามข้อ 1 (5) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก
การคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลกำหนด ภายใต้กรอบกำหนด ดังนี้
(1) พนักงานครูเทศบาลผู้นั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่จะแต่งตั้งและตามประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น โดยจัดทำคำขอตามแบบและเสนอให้ผู้บังคับบัญชารับรองและตรวจสอบคุณสมบัติพร้อมทั้งผลงานทางวิชาการ (กรณีตำแหน่งที่ต้องประเมินผลงานทางวิชาการ)
(2) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานและหรือความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญ และผลงานทางวิชาการ จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คนในแต่ละกรณี ดังนี้
(ก) กรณีการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ตั้งแต่ระดับ 6 ลงมาให้คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพนักงานเทศบาลเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในตำแหน่งนั้น ๆ หรือมีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น หรือวิชาชีพนั้นเป็นกรรมการ
(ข) กรณีการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ตั้งแต่ระดับ 7ขึ้นไป ให้คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน ความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญและผลงานทางวิชาการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในงานด้านวิชาชีพนั้นโดยเฉพาะหรือมีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในด้านนั้นโดยเฉพาะ และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลกำหนด เป็นกรรมการ
(3) ให้คณะกรรมการประเมินฯ ตามข้อ (2) ประเมินผลการปฏิบัติงาน ความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญและผลงานทางวิชาการ ตามแบบที่กำหนดให้ตามประกาศกำหนด หลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น
(4) เกณฑ์การตัดสินการผ่านประเมินฯ ตามข้อ (3) เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น
(5) ให้นายกเทศมนตรีพิจารณาเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานครูเทศบาล สายงานศึกษานิเทศก์ให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล
7. การคัดเลือกพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษาเพื่อเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น ตามข้อ 1 (6) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก
การคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลกำหนดภายใต้กรอบกำหนด ดังนี้
(7.1) การคัดเลือกพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษาสายงานผู้สอนและสายงานผู้สนับสนุนการสอนให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น
(7.1.1) พนักงานครูเทศบาลผู้นั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง และตามประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษาให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น โดยจัดทำคำขอตามแบบแล้วเสนอให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นรับรองและตรวจสอบคุณสมบัติ พร้อมทั้งผลงานทางวิชาการ (กรณีตำแหน่งที่จะต้องประเมินผลงานทางวิชาการ)
(7.1.2) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่งตั้งคณะกรรมการประเมิน คุณภาพของงาน หรือผลการปฏิบัติงาน ความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญ และผลงานทางวิชาการไม่น้อยกว่า 5 คนในแต่ละกรณี ดังนี้
(ก) กรณีการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ไม่ต้องประเมินผลงานทางวิชาการ ให้คณะกรรมการประเมินคุณภาพของงาน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพนักงานเทศบาล เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ
(ข) กรณีการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่จะต้องประเมินผลงานทางวิชาการ ให้คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน ความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญ และผลงานทางวิชาการ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในงานด้านวิชาชีพนั้นโดยเฉพาะหรือมีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในด้านนั้นโดยเฉพาะ และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลกำหนดเป็นกรรมการ
(7.1.3) ให้คณะกรรมการประเมินตามข้อ (7.1.2) ประเมินคุณภาพของงานหรือผลการปฏิบัติงาน ความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญและผลงานทางวิชาการ ตามแบบที่กำหนดให้ตามประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษาให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น
(7.1.4) เกณฑ์การตัดสินการประเมิน ฯ ตามข้อ (7.1.3) เป็นไปตามเกณฑ์ที่
กำหนดในประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษาให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น
(7.1.5) ให้นายกเทศมนตรีพิจารณาเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษา สายงานผู้สอนและผู้สนับสนุนการสอนให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล
(7.2) การคัดเลือกพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษา สายงานผู้บริหารสถานศึกษาให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น
(7.2.1) พนักงานครูเทศบาลผู้นั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่จะแต่งตั้งและตามประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษาให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น โดยจัดทำขอตามแบบหรือแบบรายงานข้อมูลสถานศึกษาแล้วเสนอให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นรับรองและตรวจสอบคุณสมบัติ พร้อมทั้งผลงานทางวิชาการ (กรณีตำแหน่งที่จะต้องประเมินผลงานวิชาการ)
(7.2.2) ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน ความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญ และผลงานทางวิชาการ (กรณีการเลื่อนระดับให้สูงขึ้น) และคณะกรรมการประเมินคุณภาพปริมาณงานและสภาพของงานของในโรงเรียนและประเมินบุคคลผู้ครองตำแหน่ง (กรณีการเลื่อนตำแหน่งและระดับสูงขึ้น) จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน ในแต่ละกรณี ดังนี้
(ก) กรณีการเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานครูเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งที่ต้องประเมินผลงานทางวิชาการ ให้คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน ความชำนาญการหรือ ความเชี่ยวชาญและผลงานทางวิชาการ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพนั้น โดยเฉพาะหรือมีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในด้านนั้นโดยเฉพาะและผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลกำหนดเป็นกรรมการ
(ข) กรณีการเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานครูเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งที่ต้องประเมินคุณภาพปริมาณงานของโรงเรียน ให้คณะกรรมการประเมินคุณภาพปริมาณงาน และสภาพของงานของโรงเรียนและประเมินบุคคลผู้ครองตำแหน่ง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพนั้นโดยเฉพาะหรือมีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในด้านนั้นโดยเฉพาะและผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตามที่ คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลกำหนดเป็นกรรมการ
(7.2.3) ให้คณะกรรมการประเมินตามข้อ (7.2.2) ประเมินผลการปฏิบัติงาน ความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญและผลงานทางวิชาการ (กรณีการเลื่อนระดับให้สูงขึ้น) และประเมินคุณภาพปริมาณงานและสภาพของงานของโรงเรียน และประเมินบุคคลผู้ครองตำแหน่ง (กรณีการเลื่อนตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น) ตามแบบที่กำหนดให้ตามประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษาให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น
(7.2.4) เกณฑ์การตัดสินการประเมินฯ ตามข้อ (7.2.3) เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษาให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น
(7.2.5) ให้นายกเทศมนตรีพิจารณาเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานครูเทศบาลที่สังกัดสถานศึกษา สายงานผู้บริหารสถานศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งและระดับที่สูงขึ้น โดยความเห็นชอบคณะกรรมการพนักงานเทศบาล
ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
ประชา มาลีนนท์
(นายประชา มาลีนนท์)
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประธานกรรมการกลางพนักงานเทศบาล
(นายประชา มาลีนนท์)
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประธานกรรมการกลางพนักงานเทศบาล
เงื่อนไขหลักสูตรและวิธีการคัดเลือก คุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก
(แนบท้ายประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกสำหรับพนักงานเทศบาล)
หลักสูตรและวิธีการคัดเลือก คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น สำหรับตำแหน่งผู้บริหารของเทศบาลในแต่ละตำแหน่งตามข้อ 5 (3) แห่งประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกสำหรับพนักงานเทศบาล มีดังต่อไปนี้
1. เกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ขั้นตอนในการคัดเลือกและคุณสมบัติผู้มีสิทธิ เข้ารับการคัดเลือก
1.1 เกณฑ์ในการคัดเลือก
เกณฑ์ในการคัดเลือกควรจะพิจารณาว่าผู้เข้ารับการคัดเลือกแต่ละคนมีความรู้ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์และผลงานในอดีต วิสัยทัศน์การปฏิบัติงานในตำแหน่งที่จะเข้ารับการคัดเลือก ประวัติการรับราชการตลอดจนมีพฤติกรรมหรือคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างไร โดยให้ผู้เข้ารับการคัดเลือก การจัดทำและนำเสนอวิสัยทัศน์ในการเข้าดำรงตำแหน่งที่เข้ารับการคัดเลือก และนำเสนอผลงานในอดีตที่ประสบความสำเร็จอันเกิดจากการบริหารงานของผู้เข้ารับการคัดเลือกมาแล้ว ซึ่งกำหนดเกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้
ก. สมรรถนะหลักทางการบริหาร การปฏิบัติงานในหน้าที่ ความประพฤติและคุณลักษณะอื่น ๆ จำนวน 100 คะแนน โดยพิจารณาจาก
1) วิสัยทัศน์ในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ขอรับการคัดเลือก จำนวน 20 คะแนน
วิสัยทัศน์ในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่จะขอรับการคัดเลือก ผู้เข้ารับการ คัดเลือก จะต้องจัดทำเอกสารเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ขอรับการคัดเลือก โดยควรจะนำเสนอข้อมูลด้านต่าง ๆ ดังนี้
ข้อมูลส่วนบุคคล
แนวคิดในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ขอรับการคัดเลือก
แนวทางพัฒนางานในหน้าที่
แนวทางพัฒนาเทศบาลหากได้รับการคัดเลือก
2) ความรอบรู้งานในหน้าที่ จำนวน 20 คะแนน
ความรอบรู้งานในหน้าที่ พิจารณาจากความรู้งานในหน้าที่ของตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง รัฐธรรมนูญ กฎหมายว่าด้วยเทศบาล กฎหมายระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น กฎหมาย กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายเกี่ยวข้องกับ เทศบาลในสายงานที่ปฏิบัติ รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันทางเศรษฐกิจสังคม และการเมือง
3) ผลงานที่ประสบความสำเร็จในอดีต จำนวน 10 คะแนน
ผู้เข้ารับการคัดเลือกจะต้องจัดทำเอกสารแสดงผลงานที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว และเกิดผลดีและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ สามารถที่จะนำไปเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นหรือ หน่วยงานส่วนราชการอื่นได้ เช่น การจัดโครงการใหม่ ๆ ที่ประชาชนได้รับประโยชน์จำนวนมาก ๆ หรือ การคิดค้นแนวทางบริหารงานใหม่ ๆ และสามารถนำไปปฏิบัติจนประสบผลสำเร็จได้ผลดียิ่ง โดยให้จัดทำเป็นเอกสารนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือก (อาจจัดทำรวมกับวิสัยทัศน์ก็ได้)
4) ความรอบรู้ในการบริหาร จำนวน 10 คะแนน
ผู้เข้ารับการประเมินจะต้องมีความรอบรู้ในเรื่องการบริหาร เช่น หลักการบริหารสมัยใหม่ การบริหารการเปลี่ยนแปลง การบริหารเชิงกลยุทธ์ เทคนิคการบริหารต่าง ๆ
5) การบริหารอย่างมืออาชีพ จำนวน 10 คะแนน
การบริหารอย่างมืออาชีพ พิจารณาจากการตัดสินใจ การคิดเชิงกลยุทธ์ ความเป็นผู้นำ ปฏิภาณไหวพริบความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ปัญหาเฉพาะหน้า ของผู้เข้ารับการคัดเลือก
6) การบริหารงานบุคคล จำนวน 10 คะแนน
การบริหารงานบุคคล พิจารณาจากการยืดหยุ่นและปรับตัว ทักษะใน การสื่อสาร การประสานสัมพันธ์ ของผู้เข้ารับการคัดเลือก การประสานงานกับส่วนอื่น
7) การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ จำนวน 10 คะแนน
การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ พิจารณาจาก ความรับผิดชอบและการตรวจสอบได้การทำงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ การบริหารราชการ
8) ความประพฤติและค่านิยมสร้างสรรค์ และคุณลักษณะอื่น ๆ 10 คะแนน เช่น
1) ความประพฤติและค่านิยมสร้างสรรค์ที่จำเป็นสำหรับนักบริหารพิจารณาจากการมีพฤติกรรมที่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และภารกิจของส่วนราชการ เช่น มุ่งประโยชน์ของ ส่วนรวม มีความซื่อสัตย์ ครองตน ครองคน ครองงาน โดยธรรม กล่าวคือ กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าเปลี่ยน มีความโปร่งใส
2) ความอุตสาหะ พิจารณาจากความมีมานะ อดทน และเอาใจใส่หน้าที่การงาน กระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน อุทิศเวลาให้กับทางราชการ มีความขยันหมั่นเพียร
3) มนุษยสัมพันธ์ พิจารณาจากความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับในความสามารถของผู้ร่วมงานทุกระดับ แก้ไขและลดข้อขัดแย้งอันอาจจะเป็นอุปสรรคต่องานราชการและหรือความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประชาชนผู้มาติดต่อรวมทั้งเต็มใจในการให้ความช่วยเหลือและบริการผู้มาติดต่อ
4) ความสามารถในการสื่อความหมาย พิจารณาจากความสามารถในการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน การสื่อสารกับผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน ความสามารถในการใช้ภาษาอย่างเหมาะสม
5) ทัศนคติ พิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์ ความพยายามในการบริหารงาน ความรับผิดชอบ
6) ความมั่นคงในอารมณ์ พิจารณาจากความหนักแน่นของสภาวะอารมณ์
ข. ประวัติการรับราชการ คะแนนเต็ม 100 คะแนน (รายละเอียดแนบท้าย) ได้แก่
1) เงินเดือน คะแนนเต็ม 20 คะแนน
2) วุฒิการศึกษา คะแนนเต็ม 20 คะแนน
3) ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในตำแหน่งสายงานและระดับปัจจุบัน
คะแนนเต็ม 20 คะแนน
4) อายุราชการ คะแนนเต็ม 20 คะแนน
5) ความผิดย้อนหลัง (วินัย) 5 ปี คะแนนเต็ม 10 คะแนน
6) ความดีความชอบย้อนหลัง 5 ปี คะแนนเต็ม 10 คะแนน
1.2 วิธีการคัดเลือก
กำหนดวิธีการที่ใช้ในการประเมิน โดยอาจใช้วิธีสัมภาษณ์ หรืออาจใช้วิธีการอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสมของผู้สมัครตามที่ประกาศไว้ในประกาศรับสมัครคัดเลือก โดยกำหนดให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกจะต้องจัดทำเอกสารในเรื่องวิสัยทัศน์ในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ขอรับการคัดเลือก ตลอดจนจัดทำเอกสารแสดงผลงานที่ประสบความสำเร็จ โดยต้องยื่นเอกสารตามจำนวนชุดที่กำหนดไว้ในประกาศรับสมัครต่อคณะกรรมการคัดเลือกในวันรับสมัคร ตามที่กำหนดไว้ในประกาศรับสมัครและให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกนำเสนอวิสัยทัศน์และ ผลงานที่ประสบความสำเร็จต่อคณะกรรมการคัดเลือก ในวันที่เข้ารับการคัดเลือกตามที่กำหนดไว้ในประกาศรับสมัคร
1.3 ขั้นตอนการคัดเลือก
1.3.1 เมื่อจะมีการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นสำหรับตำแหน่งผู้บริหารของเทศบาลให้เทศบาลที่มีตำแหน่งว่างแจ้งชื่อตำแหน่ง เลขที่ตำแหน่งและข้อมูลต่าง ๆ สำหรับใช้ประกอบการพิจารณา เช่น หน้าที่ความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติ ความรู้ความสามารถที่ต้องการของแต่ละตำแหน่ง เป็นต้น (ตามแบบแนบท้าย) ไปยัง ก.ท.จ. ต้นสังกัด เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการคัดเลือกที่ ก.ท.จ.แต่งตั้งตามข้อ 5 (2) แห่งประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกสำหรับพนักงานเทศบาล วิเคราะห์งานในตำแหน่งที่ว่างหรือจะว่าง กำหนดความรู้ความสามารถ คุณลักษณะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานสำหรับตำแหน่ง หรือเป็นการกำหนดว่าพฤติกรรมแบบใดหรือคุณลักษณะแบบใดของผู้เข้ารับการคัดเลือกที่จะสามารถทำงานนั้นได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งได้แก่สมรรถนะหลักทางการบริหาร โดยให้การปฏิบัติงานในหน้าที่ ความประพฤติ ประวัติการรับ ราชการ และคุณลักษณะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ซึ่งอาจพิจารณาแนวคิด ทัศนคติ ค่านิยมสร้างสรรค์ของนักบริหารที่พึงมี การปฏิบัติงานที่จำเป็นต้องดำเนินการตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตลอดจนแรงจูงใจที่จะเป็นแรงขับให้สามารถปฏิบัติงานได้ประสบความสำเร็จ
1.3.2 คณะกรรมการคัดเลือกกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนในการคัดเลือก พนักงานเทศบาลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ว่างให้สอดคล้องกับหลักสูตรและวิธีการคัดเลือก คุณสมบัติ มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ตามประกาศฉบับนี้และประกาศให้ทราบทั่วกัน ดังนี้
1) กำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกว่าแต่ละพฤติการณ์หรือ คุณลักษณะต่าง ๆ นั้น ควรจะพิจารณาจากข้อมูลใดประกอบการพิจารณาเพื่อให้ทราบถึงความรู้ความสามารถ ทักษะของผู้บริหาร เช่น พิจารณาจากประวัติการทำงาน ประวัติส่วนบุคคล ประสบการณ์ การฝึกอบรม และดูงาน ผลการปฏิบัติงานตามเป้าหมายในอดีตด้านบริหารการจัดการ วิสัยทัศน์ เป็นต้น
2) กำหนดวิธีการที่ใช้ในการประเมิน โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ หรือ อาจใช้วิธีการอื่นเพิ่มเติม โดยให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกนำเสนอวิสัยทัศน์และผลงานที่ประสบความสำเร็จที่ผ่านมาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะแสดงออกถึงความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมของบุคคลในตำแหน่งที่เปิดคัดเลือก ทั้งนี้ให้ระบุจำนวนเอกสารที่ต้องจัดส่ง กำหนดวันส่งเอกสารวิสัยทัศน์และผลงานและกำหนดเสนอวิสัยทัศน์และผลงานในวันคัดเลือก (สัมภาษณ์)
1.3.3 การกำหนด วัน เวลา สถานดำเนินการคัดเลือก และระเบียบเกี่ยวกับการคัดเลือก
1.3.4 การประกาศรับสมัคร และรับสมัคร ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการ คัดเลือกตามข้อ 5 (4) (5) (6) ทั้งนี้ในการกำหนดวันคัดเลือกให้คณะกรรมการคัดเลือกที่ ก.ท.จ.แต่งตั้งประกาศกำหนดให้พร้อมกันทั่วประเทศปีละไม่เกิน 4 ครั้ง ตามระยะเวลา ดังนี้
ครั้งที่ 1 ในวันทำการสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์
ครั้งที่ 2 ในวันทำการสุดท้ายของเดือนพฤษภาคม
ครั้งที่ 3 ในวันทำการสุดท้ายของเดือนสิงหาคม
ครั้งที่ 4 ในวันทำการสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน
โดยให้ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้เพียงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง และสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้เพียงแห่งเดียว
1.3.5 ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกเสนอเอกสารแสดงวิสัยทัศน์และผลงานที่ประสบความสำเร็จตามจำนวนที่กำหนดไว้ในประกาศรับสมัครต่อคณะกรรมการคัดเลือกในวันรับสมัคร จำนวนชุดเพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกได้ศึกษาพิจารณาก่อน
1.3.6 ในการดำเนินการคัดเลือก ให้เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกเสนอ รายชื่อพนักงานเทศบาลที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนและ อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งที่จะแต่งตั้งได้ต่อคณะกรรมการคัดเลือก โดยข้อมูลดังกล่าว จะต้องประกอบด้วยรายละเอียดดังนี้
(ก) รายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบ และความต้องการของตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง เช่น ขอบเขตของงานในหน้าที่ของตำแหน่ง ลักษณะงานเทคนิคและวิธีการทำงาน การควบคุมบังคับบัญชา ความสัมพันธ์กับตำแหน่งอื่น และข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับงานของตำแหน่งที่จะแต่งตั้งอันจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกตลอดจนคุณลักษณะของบุคคล ที่จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และจำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ในตำแหน่ง เป็นต้น
(ข) ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประวัติการรับราชการ และประวัติส่วนตัวของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก เสนอชื่อเพื่อรับการพิจารณาความเหมาะสมทุกคน รวมทั้งประวัติการศึกษาการฝึกอบรม ดูงาน ประสบการณ์ ความสามารถ ความชำนาญ หรือคุณลักษณะพิเศษ ผลงานสำคัญพิเศษหรือผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ในความสามารถของข้าราชการประวัติทางวินัยในอดีตของพนักงานผู้นั้นซึ่งควรเป็นข้อมูลที่เก็บอย่างเป็นระบบ และได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์และทันสมัยอยู่เสมอ
(ค) ข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี เกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานประจำปีของ ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทุกคน และความเห็นของผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับความเหมาะสม และความพร้อมหรือไม่พร้อมที่จะเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งได้ให้ไว้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ก่อนวันเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการคัดเลือก
1.3.7 ให้คณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการคัดเลือก โดยอาจใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ โดยให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกนำเสนอวิสัยทัศน์และผลงานหรือวิธีอื่นและทดสอบความรู้ด้าน ต่าง ๆ ตามที่กำหนดแล้วรวมคะแนนสัมภาษณ์ และคะแนนคุณสมบัติแล้วจัดลำดับจากผู้ที่ได้คะแนน สูงสุดไปหาผู้ที่ได้คะแนนต่ำสุดและให้พิจารณาผู้ที่มีอยู่ในลำดับที่ดีกว่าจะได้รับการแต่งตั้งก่อนผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไป และหากคะแนนของแต่ละบุคคลปรากฏว่าคะแนนรวมเท่ากันให้จัดลำดับผู้ที่คะแนนเท่ากัน ดังนี้
ถ้าคะแนนรวมเท่ากันให้พิจารณาจากคะแนนสัมภาษณ์ก่อน
ถ้าคะแนนสัมภาษณ์เท่ากันให้พิจารณาจากผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในตำแหน่งระดับปัจจุบันก่อน
ถ้าได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในตำแหน่งและระดับพร้อมกันให้พิจารณาจากเงินเดือนมากกว่า
ถ้าเงินเดือนเท่ากัน ให้พิจารณาจากอายุราชการ
ถ้าอายุราชการเท่ากัน ให้พิจารณาจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงกว่า
ถ้าได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นเดียวกันให้พิจารณาผู้ใดได้รับก่อน
ถ้าได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในชั้นเดียวกันพร้อมกันให้พิจารณา ผู้ใดมีอายุมากกว่า
1.3.8 เมื่อได้ดำเนินการคัดเลือกเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการคัดเลือกรายงานผลการคัดเลือกต่อ ก.ท.จ. โดยจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและจัดเรียงลำดับตามผลคะแนนรวม ตามข้อ 1.3.6 โดยให้ระบุคะแนนที่ได้ไว้ในประกาศด้วย เพื่อจะได้ประกาศผลการคัดเลือก และแจ้งให้เทศบาลแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งที่คัดเลือกตามลำดับต่อไป
1.4 คุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น