ประกาศหลักเกณฑ์การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา
พนักงานเทศบาล
***************************
พนักงานเทศบาล
***************************
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 (9) ประกอบมาตรา 24 วรรคเจ็ด แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และข้อ 27 แห่งประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ วิธีการบริหารและการปฏิบัติงานของพนักงานเทศบาลและกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในเทศบาล ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 และคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลในการประชุมครั้งที่ 4/2545 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2545 ได้มีมติประกาศหลักเกณฑ์การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพนักงานเทศบาลไว้ ดังต่อไปนี้
1. ให้คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพนักงานเทศบาล เพื่อเป็นกรอบและแนวทางสำหรับเทศบาล ในการจัดทำแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาลของตนเอง
2. ในแผนแม่บทการพัฒนาพนักงานเทศบาลที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลกำหนดตามข้อ 1 ต้องมีสาระสำคัญและองค์ประกอบต่อไปนี้
หลักสูตรการพัฒนาพนักงานเทศบาล
ระยะเวลาและวิธีการในการดำเนินการพัฒนา
กำหนดหน่วยงานผู้ปฏิบัติ รับผิดชอบในการพัฒนา
3. กำหนดให้เทศบาลจัดทำแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาล ตามกรอบของแผนแม่บทการพัฒนาพนักงานเทศบาลที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลกำหนด โดยให้กำหนดเป็นแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาลมีระยะเวลา 3 ปี ตามรอบของแผนอัตรากำลังของเทศบาลนั้น
4. ในการจัดทำแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาลให้เทศบาลแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาล ประกอบด้วย
(1) นายกเทศมนตรี เป็นประธานกรรมการ
(2) ปลัดเทศบาล เป็นกรรมการ
(3) ผู้อำนวยการกอง และหัวหน้าส่วนราชการอื่น เป็นกรรมการ
(4) หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการ และเลขานุการ
5. แผนการพัฒนาพนักงานเทศบาล อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(1) หลักการและเหตุผล
(2) เป้าหมายการพัฒนา
(3) หลักสูตรการพัฒนา
(4) วิธีการพัฒนาและระยะเวลาดำเนินการพัฒนา
(5) งบประมาณในการดำเนินการพัฒนา
(6) การติดตามและประเมินผล
6. หลักการและเหตุผลในการจัดทำแผนการพัฒนา เป็นการหาความจำเป็น ในการพัฒนาพนักงานเทศบาล การศึกษาวิเคราะห์ถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาพนักงาน เทศบาลตำแหน่งต่างๆ ทั้งในฐานะตัวบุคคล และฐานะตำแหน่งตามที่กำหนดในส่วนราชการตามแผนอัตรากำลังของเทศบาล ตลอดทั้งความจำเป็นในด้านความรู้ความสามารถทั่วไปในการปฏิบัติงาน ด้านความรู้ความสามารถและทักษะเฉพาะของงานในแต่ละตำแหน่ง ด้านการบริหาร และด้านคุณธรรมและจริยธรรม
7. เป้าหมายในการพัฒนาพนักงานเทศบาล ต้องกำหนดให้มีความชัดเจน และครอบคลุมพนักงานเทศบาลทุกคน และตำแหน่งตามแผนอัตรากำลังของเทศบาลทุกตำแหน่ง โดยกำหนดให้พนักงานเทศบาลต้องได้รับการพัฒนาทุกตำแหน่งภายในรอบระยะเวลา 3 ปีของแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาล
8. หลักสูตรการพัฒนา สำหรับพนักงานเทศบาลแต่ละตำแหน่งต้องได้รับการพัฒนาอย่างน้อยในหลักสูตรหนึ่งหรือหลายหลักสูตร ดังนี้
(1) หลักสูตรความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการ
(2) หลักสูตรการพัฒนาเกี่ยวกับงานในหน้าที่รับผิดชอบ
(3) หลักสูตรความรู้และทักษะเฉพาะของงานในแต่ละตำแหน่ง
(4) หลักสูตรด้านการบริหาร
(5) หลักสูตรด้านคุณธรรมและจริยธรรม
9. วิธีการพัฒนาพนักงานเทศบาล ให้เทศบาลดำเนินการเอง หรืออาจมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลหรือผู้ที่เหมาะสมดำเนินการ หรือดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่น โดยวิธีการพัฒนาวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีก็ได้ ตามความจำเป็น ความเหมาะสม ดังนี้
(1) การปฐมนิเทศ
(2) การฝึกอบรม
(3) การศึกษา หรือดูงาน
(4) การประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือการสัมมนา
(5) การสอนงาน การให้คำปรึกษาหรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม
ระยะเวลาดำเนินการพัฒนาพนักงานเทศบาล ต้องกำหนดให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการพัฒนา วิธีการพัฒนา และหลักสูตรการพัฒนาแต่ละหลักสูตร
10. งบประมาณในการดำเนินการพัฒนา เทศบาลต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนาพนักงานเทศบาล ตามแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาลอย่างชัดเจน แน่นอน เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
11. การติดตามและประเมินผลการพัฒนา เทศบาลต้องจัดให้มีระบบการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการพัฒนาพนักงานเทศบาล เพื่อให้ทราบถึงความสำเร็จของการพัฒนา ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน และผลการปฏิบัติงานของผู้เข้ารับการพัฒนา
12. ให้เทศบาลจัดทำแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาลตามข้อ 5 แล้วเสนอให้ คณะกรรมการพนักงานเทศบาลพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ในการพิจารณาของคณะกรรมการพนักงานเทศบาลตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการ
พนักงานเทศบาลพิจารณาถึงความจำเป็นในการพัฒนา กลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการพัฒนา หลักสูตรการพัฒนา วิธีการพัฒนาและระยะเวลาการพัฒนา งบประมาณที่เทศบาลจัดสรรสำหรับการพัฒนา เมื่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาลพิจารณามีมติเห็นชอบแล้วให้เทศบาลประกาศใช้บังคับเป็นแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาล ต่อไป
เมื่อครบกำหนดรอบระยะเวลาการใช้แผนการพัฒนาพนักงานเทศบาล 3 ปี แล้ว ให้เทศบาลดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาล ตาม ข้อ 5 เป็นระยะเวลา 3 ปี ในรอบถัดไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระยะเวลาของแผนอัตรากำลังพนักงานเทศบาลด้วย
13. ในการพิจารณาของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล ตามข้อ 12 หาก คณะกรรมการพนักงานเทศบาล เห็นว่าแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาลยังไม่เหมาะสม ให้เทศบาลดำเนินการปรับปรุง แผนการพัฒนาพนักงานเทศบาลดังกล่าวตามความเห็นของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล
14. ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลตรวจสอบและกำกับดูแลให้เทศบาลดำเนินการพัฒนาพนักงานเทศบาล ตามแผนการพัฒนาพนักงานเทศบาล ที่ได้ประกาศใช้บังคับ ทั้งนี้ เทศบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนการพัฒนาพนักงานดังกล่าว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
ประชา มาลีนนท์
(นายประชา มาลีนนท์)
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประธานกรรมการกลางพนักงานเทศบาล
(นายประชา มาลีนนท์)
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประธานกรรมการกลางพนักงานเทศบาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น