วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประกาศ ก.ท.จ., การสอบแข่งขัน

ส่วนที่ 1
การสอบแข่งขัน
ข้อ 47 ให้เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ อาจร้องขอให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ก.ท.จ.)) เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันแทนได้
กรณีคณะกรรมการพนักงานเทศบาล เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันในตำแหน่งใดแล้วและบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ยังไม่หมดอายุ ห้ามมิให้เทศบาลในจังหวัดนั้นจัดสอบแข่งขันในตำแหน่งเดียวกันอีก
ในกรณีคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล หรือคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในจังหวัดนั้นมีบัญชีสอบแข่งขันได้ในตำแหน่งใด ห้ามมิให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลเปิดสอบแข่งขันในตำแหน่งนั้นด้วย
ข้อ 48 ยกเลิก
ข้อ 49 ให้ผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ดำเนินการ ดังนี้
(1) แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขัน จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คนประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพนักงานเทศบาล เป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 คน ผู้บริหารสถานศึกษาในเขตจังหวัด เป็นกรรมการ ปลัดเทศบาล หรือท้องถิ่นจังหวัดแล้วแต่กรณีเป็นกรรมการและเลขานุการ
มีหน้าที่อำนวยการสอบและดำเนินการสอบแข่งขันให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และกำหนดวัน เวลา และสถานที่สอบ ตลอดจนระเบียบเกี่ยวกับการสอบได้เท่าที่จำเป็น โดยไม่ขัดต่อหลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขันและวิธีการเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน
(2) แต่งตั้งคณะกรรมการออกและตรวจข้อสอบ จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาภาคความรู้ความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่ง (ภาค ข) ที่เปิดสอบ ที่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ที่มีระดับไม่ต่ำกว่าระดับ 8 หรือเทียบเท่า
มีหน้าที่ออกข้อสอบเป็นจำนวน 10 เท่าของจำนวนข้อสอบของการสอบภาค ข และตรวจข้อสอบภายหลังการสอบเสร็จสิ้นภายใน 5 วัน ทั้งนี้ กรณีข้อสอบปรนัยให้ตรวจและประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์
(3) แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบ จำนวนไม่เกิน 5 คน ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้อง
มีหน้าที่พิจารณาคัดเลือกข้อสอบที่คณะกรรมการออกและตรวจข้อสอบส่งมอบให้ได้ข้อสอบตามจำนวนข้อสอบที่กำหนดในการสอบภาค ข
(4) แต่งตั้งคณะกรรมการผลิตข้อสอบ จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพนักงานเทศบาล และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดหรือประจำอำเภอที่เกี่ยวข้อง โดยมีพนักงานเทศบาลหรือข้าราชการสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดแล้วแต่กรณี เป็นเลขานุการ
มีหน้าที่ควบคุมกระบวนการผลิตข้อสอบ และเก็บรักษาข้อสอบให้เป็นไปอย่างรัดกุมไม่ให้ข้อสอบรั่วไหลได้
(5) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค) คณะละไม่น้อยกว่า 3 คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่มีระดับไม่ต่ำกว่าระดับ 8 หรือเทียบเท่า
มีหน้าที่ประเมินบุคคลเพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ โดยพิจารณาจากประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน พฤติกรรมที่ปรากฏทางอื่นของผู้เข้าสอบ และจากการสัมภาษณ์ ทั้งนี้ อาจใช้วิธีการอื่นใดเพิ่มเติมอีกก็ได้ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ
(6) แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการสอบแข่งขัน จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพนักงานเทศบาล เป็นประธาน นายอำเภอหรือหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด และท้องถิ่นจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลและตรวจสอบกระบวนการดำเนินการสอบแข่งขันในทุกขั้นตอนตั้งแต่การประกาศสอบแข่งขันจนถึงการประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยถูกต้องเป็นธรรม และให้มีการปฏิบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลกำหนดโดยเคร่งครัด หากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง หรืออาจสร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้สอบแข่งขัน ให้รายงานผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน เพื่อดำเนินการต่อไป”
ข้อ 50 ยกเลิก
ข้อ 51 ให้คณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขันกำหนดวัน เวลา สถานที่สอบและระเบียบเกี่ยวกับการสอบได้เท่าที่จำเป็น และไม่ขัดต่อหลักสูตร วิธีการสอบแข่งขัน และวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการสอบแข่งขันนี้ แล้วให้ประธานกรรมการประกาศก่อนวันสอบไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ”
ข้อ 52 หลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งระดับต่าง ๆ ให้มีรายละเอียด ดังนี้
ก. ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป กำหนดคะแนนเต็ม 200 คะแนน
ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการสอบปีละ 1 ครั้ง และให้ประกาศผลผู้ที่ได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนด เป็นผู้ผ่านการสอบโดยไม่ต้องจัดลำดับที่ของผู้สอบได้ และบัญชีของผู้สอบผ่านภาค ก มีอายุ 3 ปี โดยให้ทดสอบความรู้ความสามารถดังต่อไปนี้ โดยวิธีสอบข้อเขียน และให้คำนึงถึงระดับความรู้ความสามารถที่ต้องการของตำแหน่ง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งในแต่ละระดับด้วย
(1).วิชาความสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล กำหนดคะแนนเต็ม 100 คะแนน ให้ทดสอบความสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล โดยการให้สรุปความหรือให้จับประเด็นในข้อความหรือเรื่องราว หรือให้วิเคราะห์เหตุการณ์หรือสรุปเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม หรือให้หาแนวโน้มหรือความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นไปตามข้อมูล หรือสมมุติฐาน หรือให้ศึกษาวิเคราะห์และสรุปเหตุผลอย่างอื่น ซึ่งเหมาะสมแก่การทดสอบความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้
(2). วิชาภาษาไทย กำหนดคะแนนเต็ม 100 คะแนน
ให้ทดสอบความรู้และความสามารถในการใช้ภาษา โดยการให้สรุปความและหรือตีความจากข้อความสั้น ๆ หรือบทความ และให้พิจารณาเลือกใช้ภาษาในรูปแบบต่าง ๆ จากคำ หรือกลุ่มคำ ประโยค หรือข้อความสั้น ๆ หรือให้ทดสอบโดยการอย่างอื่นที่เหมาะสมกับการทดสอบความรู้ความสามารถดังกล่าว
ข. ภาคความรู้ความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่ง กำหนดคะแนนเต็ม 200 คะแนน
ให้เทศบาลหรือคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจัดสอบ โดยให้ทดสอบความรู้ความสามารถในทางที่จะใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่โดยเฉพาะ ตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งโดยวิธีสอบข้อเขียน หรือวิธีสอบปฏิบัติ หรือวิธีอื่นใด วิธีหนึ่งหรือหลายวิธีก็ได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้จะรวมสอบเป็นวิชาเดียวหรืออย่างเดียว หรือแยกสอบเป็นสองวิชาหรือสองอย่าง โดยกำหนดคะแนนเต็มวิชาละหรืออย่างละ 100 คะแนน หรือวิชาหนึ่งหรืออย่างหนึ่ง 150 คะแนน และอีกวิชาหนึ่งหรืออีกอย่างหนึ่ง 50 คะแนน ก็ได้ เมื่อจะทดสอบความรู้ความสามารถในทางใดและโดยวิธีใด ให้ระบุไว้ในประกาศรับสมัคร
สอบด้วย
ค. ภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง กำหนดคะแนนเต็ม 100 คะแนน
ให้เทศบาลหรือคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจัดสอบ โดยให้ประเมินบุคคลเพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่จากประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานและพฤติกรรมที่ปรากฏทางอื่นของผู้เข้าสอบ และจากการสัมภาษณ์ ทั้งนี้ อาจใช้วิธีการอื่นใดเพิ่มเติมอีกก็ได้เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ เช่น ความรู้ที่อาจใช้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่และความรู้ในเรื่องการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ความสามารถ ประสบการณ์ ท่วงทีวาจา อุปนิสัย อารมณ์ทัศนคติ จริยธรรมและคุณธรรม การปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปฏิภาณไหวพริบและบุคลิกภาพอย่างอื่น เป็นต้น”
ข้อ 53 ให้ผู้ดำเนินการสอบแข่งขันประกาศรับสมัครสอบ โดยระบุรายละเอียดในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
(1) ชื่อตำแหน่งและจำนวนอัตราว่างที่จะบรรจุแต่งตั้ง
(2) คุณสมบัติทั่วไปและคุณสมบัติเฉพาะของผู้มีสิทธิสมัครสอบสำหรับตำแหน่งนั้น
(3) เงินเดือนที่จะได้รับสำหรับตำแหน่งนั้น ตามคุณวุฒิที่ประกาศรับสมัครสอบ
(4) วัน เวลา และสถานที่รับสมัครสอบ
(5) เอกสารและหลักฐานที่ใช้ในการสมัครสอบ
(6) หลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขัน เกณฑ์การตัดสิน การขึ้นบัญชี และการยกเลิกบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
(7) การบรรจุแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้เป็นพนักงานเทศบาล กำหนดเงื่อนไขให้ผู้นั้นจะต้องดำรงตำแหน่งในเทศบาลที่บรรจุแต่งตั้งอย่างน้อย 2 ปี จึงสามารถโอนไปดำรงตำแหน่ง ณ ที่แห่งอื่นได้ เว้นแต่เมื่อผ่านการทดลองปฏิบัติราชการแล้วและมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง คณะกรรมการพนักงานเทศบาลอาจพิจารณาให้โอนย้ายได้ตามที่เห็นสมควร
(8) เรื่องอื่น ๆ หรือข้อความอื่นที่ผู้สมัครสอบควรทราบ
การประกาศรับสมัครสอบแข่งขันนั้นให้ประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานที่รับสมัครสอบก่อนวันที่เริ่มรับสมัครสอบ ไม่น้อยกว่า 10 วัน และแจ้งให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลทุกจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลและจะประกาศทางวิทยุกระจายเสียงหรือทางอื่นใดตามความเหมาะสมด้วย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกันด้วยก็ได้”
ข้อ 54 ให้คณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขัน จัดให้มีเจ้าหน้าที่รับสมัครสอบ โดยให้มีกำหนดเวลารับสมัครสอบไม่น้อยกว่า 15 วันทำการ
ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาการรับสมัครสอบแข่งขันให้คณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขันเสนอแนะผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อประกาศขยายระยะเวลาการรับสมัครสอบได้ไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ แต่ไม่เกิน 15 วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันสุดท้ายของการรับสมัครสอบ โดยจะต้องประกาศการขยายเวลานั้นก่อนวันครบกำหนดวันปิดรับสมัครสอบ”
ข้อ 55 ให้ผู้สมัครสอบเสียค่าธรรมเนียมสอบสำหรับตำแหน่งที่สมัครสอบตามอัตรา ดังนี้
(1) ภาค ก ให้เสียค่าธรรมเนียมสอบ ตำแหน่งละไม่เกิน 100 บาท
(2) ภาค ข และ ภาค ค ให้เสียค่าธรรมเนียมสอบ ดังนี้
(ก) ตำแหน่งระดับ 1 หรือตำแหน่งระดับ 2 ตำแหน่งละไม่เกิน 100 บาท
(ข) ตำแหน่งระดับ 3 ขึ้นไป ตำแหน่งละไม่เกิน 200 บาท
ค่าธรรมเนียมสอบจะไม่จ่ายคืนให้เมื่อได้ประกาศรายชื่อว่าเป็นผู้มีสิทธิเข้าสอบแล้ว เว้นแต่มีการยกเลิกการสอบครั้งนั้นทั้งหมด เนื่องจากมีการทุจริตหรือส่อไปในทางทุจริต ตามข้อ 59 ให้จ่ายคืนค่าธรรมเนียมสอบให้กับผู้สมัครสอบ ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือส่อไปในทางทุจริตนั้นได้
ในกรณีที่ผู้สมัครสอบแข่งขันผู้ใดเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ หรือข้าราชการหรือ
พนักงานส่วนท้องถิ่น และประสงค์จะสมัครสอบแข่งขันในตำแหน่งที่มีระดับไม่สูงกว่าตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ซึ่งใช้คุณวุฒิเช่นเดียวกับตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ จะต้องยื่นหนังสือรับรองจากผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ อนุญาตให้มาสมัครสอบแข่งขันได้พร้อมกับใบสมัครสอบ หากไม่มีหนังสือรับรองดังกล่าวผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าสอบสำหรับการสอบแข่งขันครั้งนั้น
ข้อ 56 ให้ผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าสอบ ก่อนวันสอบไม่น้อยกว่า10 วันทำการ
ข้อ 57 การตัดสินว่าผู้ใดเป็นผู้สอบแข่งขันได้ให้ถือเกณฑ์ว่า ต้องเป็นผู้สอบได้คะแนนในภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะสำหรับตำแหน่ง (ภาค ข) และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค
ค)ที่สอบตามหลักสูตรแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โดยไม่ต้องนำคะแนนจากการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) มารวม ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงหลักวิชาการวัดผลด้วย
ข้อ 58 ให้ผู้ที่สอบผ่านภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสอบ เป็นผู้มีสิทธิสมัครสอบในภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะสำหรับตำแหน่ง (ภาค ข) และเมื่อสอบผ่านภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะสำหรับตำแหน่ง (ภาค ข) โดยได้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 57 ให้เป็นผู้มีสิทธิสอบในภาคอื่นต่อไปได้
ข้อ 59 ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีการทุจริตหรือส่อไปในทางทุจริต อันอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระหว่างดำเนินการสอบแข่งขัน ให้คณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการสอบแข่งขัน รายงานให้ผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน เพื่อพิจารณาว่าสมควรยกเลิกการสอบแข่งขันในครั้งนั้นทั้งหมด หรือยกเลิกเฉพาะวิชาหรือเฉพาะภาคที่มีการทุจริต หรือส่อไปในทางทุจริตนั้น หากผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ได้ยกเลิกการสอบแข่งขันเฉพาะวิชาใด หรือเฉพาะภาคใดแล้ว ให้ดำเนินการสอบแข่งขันเฉพาะวิชานั้น หรือเฉพาะภาคนั้นใหม่ โดยผู้ที่ทุจริตหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการสอบแข่งขันครั้งนั้น ไม่มีสิทธิเข้าสอบแข่งขันอีก
กรณีตรวจพบการทุจริตหรือส่อไปในทางทุจริต ภายหลังที่มีการสอบเสร็จสิ้นแล้ว แต่ก่อนประกาศผลการสอบแข่งขัน ให้คณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการสอบแข่งขัน ตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดทุจริตในการสอบแข่งขัน หรือมีส่วนร่วมในการทุจริต ผู้ดำเนินการสอบแข่งขันอาจใช้ดุลยพินิจตัดสิทธิผู้สมัครสอบแข่งขันนั้นได้
กรณีตรวจพบการทุจริตการสอบแข่งขันภายหลังประกาศผลการสอบแล้ว กรณีที่เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาล ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณามีมติเป็นประการใด ให้เทศบาลที่จัดสอบแข่งขันปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น หากเทศบาลไม่ดำเนินการให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลแจ้งนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณีในฐานะผู้กำกับดูแล เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ถ้าคณะกรรมการพนักงานเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ให้คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร”
ข้อ 60 เมื่อได้ดำเนินการสอบแข่งขันเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขันรายงานผลการสอบแข่งขันต่อผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน เพื่อประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ต่อไป
ข้อ 61 การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ให้เรียงลำดับที่จากผู้สอบได้จากคะแนนรวมสูงสุดลงมาตามลำดับ ในกรณีที่มีผู้สอบได้คะแนนรวมเท่ากัน ให้ผู้ได้คะแนนภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะสำหรับตำแหน่งมากกว่าเป็นผู้อยู่ในลำดับที่สูงกว่า ถ้าได้คะแนนภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะสำหรับตำแหน่งเท่ากัน ให้ผู้ได้รับเลขประจำตัวสอบก่อนเป็นผู้อยู่ในลำดับที่สูงกว่า”
ข้อ 62 บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ให้ใช้ได้ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันประกาศขึ้นบัญชี แต่ถ้ามีการสอบแข่งขันอย่างเดียวกันนั้นอีก และได้ขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ใหม่แล้ว บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ครั้งก่อนเป็นอันยกเลิก เว้นแต่ในกรณีที่ได้มีการเรียกตัวผู้สอบแข่งขันได้ผู้ใดให้มารายงานตัวเพื่อรับการบรรจุไปแล้ว ก่อนบัญชีผู้สอบแข่งขันได้จะมีอายุครบกำหนดระยะเวลาที่ระบุ และต่อมาบัญชีได้ครบระยะเวลาตามที่ระบุหรือก่อนมีการประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ใหม่ ให้ถือว่าผู้นั้นยังมีสิทธิได้รับการบรรจุแต่งตั้ง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่บัญชีผู้สอบแข่งขันได้นั้นมีอายุครบตามที่ประกาศ หรือวันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ใหม่ แล้วแต่กรณี
ข้อ 63 การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นพนักงานเทศบาล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใดในเทศบาล ให้บรรจุและแต่งตั้งจากผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งนั้นหรือตำแหน่งอื่นที่กำหนดคุณวุฒิตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตรงกันกับคุณวุฒิที่ผู้นั้นนำมาสมัครสอบแข่งขัน และเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องและเกื้อกูลกัน ตามที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลกำหนด โดยต้องเรียกบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
กรณีเทศบาลรายงานตำแหน่งว่างต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาลเพื่อดำเนินการสอบแข่งขันให้แทน เมื่อประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้แล้ว และคณะกรรมการพนักงานเทศบาลได้ส่งตัวผู้สอบแข่งขันได้มาเพื่อขอรับการบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งที่เทศบาลรายงานโดยชอบแล้ว ห้ามมิให้เทศบาลปฏิเสธการบรรจุแต่งตั้ง ทั้งนี้ ให้ถือว่าการรายงานตำแหน่งว่างของเทศบาลต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาล เป็นการร้องขอเพื่อบรรจุแต่งตั้งแล้ว
กรณีเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ให้บรรจุแต่งตั้งได้เฉพาะเทศบาลนั้น เมื่อบรรจุแต่งตั้งครบตามจำนวนอัตราที่ว่างแล้ว หากภายหลังตำแหน่งดังกล่าวว่างลง อาจแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้ที่อยู่ในลำดับถัดไปให้ดำรงตำแหน่งได้ แต่ต้องบรรจุและแต่งตั้งเรียงตามลำดับที่ที่สอบแข่งขันได้ โดยห้ามมิให้อนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นหรือส่วนราชการอื่น ใช้บัญชีสอบแข่งขันไปบรรจุแต่งตั้งได้
กรณีคณะกรรมการพนักงานเทศบาล เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน สามารถอนุญาตให้เทศบาลอื่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น หรือส่วนราชการอื่นภายในจังหวัด ที่ประสงค์จะขอใช้บัญชีสอบแข่งขันดังกล่าว สามารถใช้บัญชีเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สอบแข่งขันได้ หรือตำแหน่งอื่นที่กำหนดคุณวุฒิตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตรงกันกับคุณวุฒิที่ผู้นั้นนำมาสมัครสอบแข่งขัน แต่ต้องเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องและเกื้อกูลกัน ตามที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลกำหนด โดยต้องเรียกบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
เทศบาลสามารถขอใช้บัญชีสอบแข่งขันในตำแหน่งอื่นที่มีระดับเดียวกันหรือระดับสูงกว่ามาบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งที่มีระดับต่ำกว่าจากบัญชีการสอบแข่งขันของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล หรือคณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นอื่น ในจังหวัดเดียวกันได้ โดยมีเงื่อนไขว่าตำแหน่งที่ขอใช้จากบัญชีผู้สอบแข่งขันได้นั้น ต้องเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องเกื้อกูลกันกับตำแหน่งที่จะบรรจุแต่งตั้งและมีคุณวุฒิตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตรงกันกับตำแหน่งที่จะบรรจุแต่งตั้ง และในขณะบรรจุแต่งตั้งเทศบาลนั้นจะต้องไม่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งนั้น โดยผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าวต้องสมัครใจ
ในกรณีที่เทศบาลขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจัดสอบแข่งขันมาบรรจุและแต่งตั้ง ให้เทศบาลบรรจุและแต่งตั้งบุคคลตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลกำหนด
กรณีเทศบาลหรือคณะกรรมการพนักงานเทศบาลไม่มีบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งใด อาจบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้โดยขอให้ใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของกระทรวง ทบวง กรม ในตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งที่จะบรรจุเข้ารับราชการได้
ข้อ 64 ผู้ใดได้รับการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ถ้ามีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
ให้เป็นอันยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้นั้นในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ คือ
(1) ผู้นั้นได้ขอสละสิทธิรับการบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งที่สอบได้
(2) ผู้นั้นไม่มารายงานตัวเพื่อรับการบรรจุเข้ารับราชการภายในเวลาที่เทศบาลหรือคณะกรรมการพนักงานเทศบาลกำหนด โดยมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน แจ้งให้ทราบกำหนดเวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ที่ทำการไปรษณีย์รับลงทะเบียน
(3) ผู้นั้นมีเหตุไม่อาจเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ตามกำหนดเวลาที่จะบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งที่สอบได้
(4) ผู้นั้นประสงค์จะรับการบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งที่สอบแข่งขันได้โดยการโอน แต่ส่วนราชการที่บรรจุไม่รับโอน และได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะไม่รับโอน ผู้นั้นจึงไม่ประสงค์จะรับการบรรจุ
(5) ผู้นั้นได้รับการบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งที่สอบได้ไปแล้ว ให้ยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้นั้นไว้ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ทุกบัญชีในการสอบครั้งเดียวกัน
ข้อ 65 ผู้ใดถูกยกเลิกการขึ้นบัญชี ถ้าบัญชีนั้นยังไม่ยกเลิก และเจ้าของบัญชี พิจารณาเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจะอนุมัติให้ขึ้นบัญชีผู้นั้นไว้ในบัญชีเดิมเป็นลำดับแรกที่จะบรรจุในครั้งต่อไปตามเดิม ก็ได้
กรณีถูกยกเลิกการขึ้นบัญชีเนื่องจากไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารเมื่อออกจากราชการทหาร โดยไม่มีความเสียหายและประสงค์จะเข้ารับราชการในตำแหน่งที่สอบได้ และบัญชีนั้นยังไม่ยกเลิก ให้ขึ้นบัญชีผู้นั้นไว้ในบัญชีเดิมเป็นลำดับแรกที่จะบรรจุในครั้งต่อไป
ข้อ 66 เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบให้เกิดความเป็นธรรม ให้ผู้ดำเนินการสอบแข่งขันดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ให้ส่งสำเนาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด และสำเนาประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน 2 ชุด ไปยังคณะกรรมการพนักงานเทศบาล ก่อนเริ่มรับสมัครสอบไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ และให้ส่งสำเนาประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน จำนวน 1 ชุด ให้คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ทราบด้วย กรณีที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาลเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ให้ส่งสำเนาประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน จำนวน 1 ชุด ให้คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล
(2) เมื่อการสอบเสร็จสิ้น ให้รายงานต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาล ภายใน 15 วันทำการ นับแต่วันประกาศผลการสอบแข่งขัน โดยให้ส่งเอกสาร ดังต่อไปนี้
ก. บัญชีกรอกคะแนน 1 ชุด
ข. สำเนาประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ 1 ชุด
(3) หากมีการยกเลิกการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ หรือขึ้นบัญชีไว้ตามเดิมให้รายงานคณะกรรมการพนักงานเทศบาล และคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ภายใน 30 วันทำการ นับแต่วันยกเลิกหรือขึ้นบัญชีนั้น
(4) หากมีการเปลี่ยนแปลงในการประกาศรับสมัครสอบ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าสอบกำหนดวัน เวลา และสถานที่สอบ ประกาศผลสอบและอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดไว้เดิมให้รายงานคณะกรรมการพนักงานเทศบาล และคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันประกาศเปลี่ยนแปลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น