ประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.)
เรื่อง ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลในดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น นอกระดับควบขั้นสูง ในสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสายงานนิติการ พ.ศ.๒๕๕๐
โดยที่ตำแหน่งในสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสายงานนิติการ กำหนดให้เป็นตำแหน่งประเภทวิชาชีพ จึงสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนระดับเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นไปในแนวทางเดียวกัน โดยจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานและประเมินผลงานเพื่อแสดงถึงความรู้ความสามารถและการมีมาตรฐานตามหลักวิชาชีพในสาขานั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗(๕) ประกอบมาตรา ๒๔ วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒ ประกอบกับข้อ ๕ แห่งประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือก การบรรจุและแต่งตั้ง การย้าย การโอน การรับโอน การเลื่อนระดับ และการเลื่อนขั้นเงินเดือน ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ มีมติเห็นชอบให้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นนอกระดับควบขั้นสูง ในสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสายงานนิติกร พ.ศ.๒๕๕๐ ดังนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๘ และให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน
ข้อ ๓ การคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นนอกระดับควบขั้นสูง ของสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสายงายนิติการในตำแหน่งสายงานผู้มีประสบการณ์ ตำแหน่งวิชาชีพ และตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ ให้ดำเนินการดังนี้
๓.๑ การปรับตำแหน่งที่สูงขึ้นตั้งแต่ ระดับ ๗ ว หรือ ๗ วช ให้ดำเนินการได้เมื่อ
๓.๑.๑ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นเป็นผู้มีผลงานและมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นดังกล่าว
๓.๑.๒ ลักษณะหน้าที่ ความรับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพของงานของตำแหน่งนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมในสาระสำคัญมากกว่าปริมาณงานเดิมถึงขนาดที่จะต้องปรับระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล( ก.ท. )กำหนด
๓.๑.๓ ผ่านการประเมินลการปฏิบัติงาน ๓ ปี โดยให้เทศบาลแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน ๓ ปี ประกอบด้วย
(๑) ผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.ท.จ.คัดเลือก ๑ คน เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชาชีพที่ขอประเมิน ๒ คน เป็นกรรมการ
(๓) ปลัดเทศบาล เป็น กรรมการ
(๔) ผู้อำนวยการสำนัก/ผู้อำนวยการกอง ๑ คน ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพที่ขอประเมิน เป็นกรมการ
(๕) ท้องถิ่นจังหวัด เป็นกรรมการ/เลขานุการ
ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพของงานของบุคคลที่ขอประเมินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง
๓.๑.๔ ให้เทศบาลเสนอขอปรับปรุงตำแหน่งนั้น เป็นระดับ ๗ ว หรือ ๗ วช ต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ก.ท.จ.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยมีรายละเอียดประกอบด้วย
๑) รายละเอียดของภารกิจ และปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจนถึงขนาดต้องทำให้มีการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งนั้นเป็นระดับ ๗ ว หรือ ๗ วช
๒) ระบุภารกิจที่จะมอบหมายให้ผู้ที่ขอปรับระดับตำแหน่งรับผิดชอบประกอบด้วยอะไรบ้าง
๓) เปรียบเทียบปริมาณงานก่อนและหลังการขอปรับปรุงกำหนดระดับตำแหน่ง
๔) ภาระค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคลปัจจุบันและภายหลังจากมีการปรับปรุงการกำหนดระดับตำแหน่งนั้นแล้ว
๕) ผลการประเมินการปฏิบัติงาน ๓ ปี
๓.๑.๕ กรณีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ก.ท.จ.) ให้สามารถปรับปรุงการกำหนดระดับตำแหน่งนั้นเป็นระดับ ๗ ว หรือ ๗ วช ได้แล้วให้เทศบาลดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลงานประกอบด้วย
๑.ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาชีพที่ขอประเมินซึ่งมีระดับสูงกว่าผู้ขอประเมิน ๑ ระดับ ที่ ก.ท.จ.คัดเลือก เป็นประธานกรรมการ
๒.ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชาชีพที่ขอประเมิน ๒ คน เป็นกรรมการ
๓.ผู้อำนวยการสำนัก/ผู้อำนวยการกอง ๑ คน ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพที่ขอประเมิน เป็นกรรมการ
๔. ท้องถิ่นจังหวัด เป็นกรรมการ/เลขานุการ
ทำหน้าที่ประเมินผลงานที่แสดงถึงความรู้ ความชำนาญงาน ของบุคคลที่ขอประเมินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งในระดับ ๗ ว หรือ ๗ วช
๓.๑.๖ เมื่อคณะกรรมการได้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและผลงานของผู้นั้นแล้ว ให้เทศบาลออกคำสั่งแต่งตั้งผู้นั้นให้ดำรงตำแหน่งระดับ ๗ ว หรือ ๗ วช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ก.ท.จ.)
๓.๒ การปรับตำแหน่งที่สูงขึ้นตั้งแต่ ๘ ว หรือ ๘ วช ๙ วช หรือ ๙ ชช ให้ดำเนินการได้ต่อเมื่อ
๓.๒.๑ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นเป็นผู้มีผลงานและมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นดังกล่าว
๓.๒.๒ ลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพของงานของตำแหน่งนั้นเปลี่ยนไปจากเดิมในสาระสำคัญมากกว่าปริมาณงานเดิมถึงขนาดที่จะต้องปรับระดับตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งที่คณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ก.ท.)กำหนด
๓.๒.๓ ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน ๓ ปี โดยให้เทศบาลแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฎิบัติงาน ๓ ปี ประกอบด้วย
(๑) ผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.ท.จ.คัดเลือก ๑ คน เป็น ประธานกรรมการ
(๒) ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชาชีพที่ขอประเมิน ๒ คน เป็นกรรมการ
(๓) ปลัดเทศบาล เป็น กรรมการ
(๔) ผู้อำนวยการสำนัก/ผู้อำนวยการกอง ๑ คนที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพที่ขอประเมิน เป็น กรรมการ
(๕) ท้องถิ่นจังหวัด เป็น กรรมการ/เลขานุการ
เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะหน้าที่ ความรับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพของงานของบุคคลที่ขอประเมินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง
****๓.๒.๔ ให้เทศบาลเสนอขอปรับปรุงตำแหน่งนั้น เป็นระดับ ๘ ว หรือ ๘ วช ๙ วช หรือ ๙ ชช ต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาล เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เว้นแต่การให้ความเห็นชอบในระดับ ๙ วช หรือ ๙ ชช ให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาล รายงานผลต่อคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล พิจารณาเห็นชอบก่อน โดยมีรายละเอียดประกอบด้วย
๑) รายละเอียดของภารกิจ และปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจนถึงขนาดต้องทำให้มีการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งนั้นเป็นระดับ ๘ ว หรือ ๘ วช ๙ วช หรือ ๙ ชช
๒) ระบุภารกิจที่จะมอบหมายให้ผู้ที่ขอปรับระดับตำแหน่งรับผิดชอบ
๓) เปรียบเทียบปริมาณงานก่อนและหลังการขอปรับปรุงกำหนดระดับตำแหน่ง
๔) ภาระค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคลปัจจุบันและภายหลังจากมีการปรับปรุงการกำหนดระดับตำแหน่งนั้นแล้ว
๕) ผลการประเมินการปฏิบัติงาน ๓ ปี
****๓.๒.๕ เมื่อได้รับความเห็นชอบ ให้ปรับปรุงการกำหนดระดับตำแหน่งนั้น เป็นระดับ ๘ ว หรือ ๘ วช ๙ วช หรือ ๙ ชช ได้แล้ว ให้เทศบาลดำเนินการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาชีพจากสถาบันการศึกษา หรือส่วนราชการหรือองค์กรวิชาชีพ ที่คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลคัดเลือก จำนวน ๓ คน เป็นคณะกรรมการประเมินผลงานความชำนาญการและความเชี่ยวชาญ
๓.๒.๖ เมื่อผู้ขอประเมินได้ผ่านการประเมินจากคณะกรรมการประเมินผลงานความชำนาญการและความเชี่ยวชาญ ตามเกณฑ์คะแนนที่กำหนดแล้ว ให้นำเสนอผลการประเมินของผู้นั้นให้คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) ทราบ๓.๒.๗ เมื่อคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) ได้รับทราบผลการประเมินแล้วให้เทศบาลออกคำสั่งแต่งตั้งผู้นั้นดำรงตำแหน่งระดับ ๘ ว หรือ ๘ วช ๙ วช หรือ ๙ ชช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ก.ท.จ.) ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้นั้นได้ยื่นผลงาน
๓.๓ ให้นำแนวทางในการเลื่อนระดับและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ตามหนังสือสำนักงาน ก.ท.ที่ มท ๐๘๐๙.๒/ว ๒๗๖ ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ มาใช่เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐
อารีย์ วงศ์อารยะ
(นายอารีย์ วงศ์อารยะ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประธานกรรมการกลางพนักงานเทศบาล
หนังสือสำนักงาน ก.ท. ที่ มท ๐๘๐๙.๒/ว ๑๘๑ ลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เรื่อง ขอยกเลิกแนวทางการเลื่อนระดับเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสายงานนิติกร ความว่าในการประชุม ก.ท. ครั้งที่ ๘/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๐ ได้มีมติยกเลิกวงรอบการเสนอขอปรับปรุงตำแหน่ง และผลงานสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสายงานนิติการ เพื่อให้ ก.ท.จ.มีระยะเวลาพิจารณาความเหมาะสม การขอปรับปรุงตำแหน่งอย่างรอบคอบและเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าให้แก่พนักงานส่วนท้องถิ่น ที่สามารถขอประเมินเพื่อเลื่อนระดับตำแหน่งที่สูงขึ้นเมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนได้ ตามเงื่อนไขที่ ก.ท. กำหนด
ประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕ ในแนวทางการเลื่อนระดับเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๖ โดยให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน
“ ๕. การเลื่อนระดับสำหรับพนักงานเทศบาลในสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสายงานนิติการ จะต้องไม่สูงกว่าหัวหน้าส่วนราชการระดับกองที่ตนสังกัด
กรณีที่เทศบาลใดเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสายงานนิติกร ผู้ใดเป็นผู้มีผลงานและมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ไม่อาจเสนอขอขยายระดับตำแหน่งให้สูงขึ้นได้ เนื่องจากเมื่อขยายระดับตำแหน่งแล้ว จะมีระดับตำแหน่งที่สูงกว่าหัวหน้าส่วนราชการ ให้เทศบาลเสนอขอขยายระดับตำแหน่งโดยการปรับปรุงตำแหน่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาล (ก.ท.จ.) เพื่อพิจารณาเหตุผลความจำเป็นในด้านปริมาณงานและคุณภาพของงานเป็นการเฉพาะราย”
ประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่องมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการกำหนดค่าตอบแทนการตรวจผลงานของคณะกรรมการประเมินผลงานพนักงานเทศบาล สายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสายงานนิติการ พ.ศ.๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่อง กำหนดค่าตรวจผลงานของคณะกรรมการประเมินผลงานของพนักงานเทศบาลสายงานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ฉบับลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖
“ข้อ ๔ ให้กำหนดค่าตอบแทนการตรวจผลงานของคณะกรรมการประเมินผลงานของพนักงานเทศบาลสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสายงานนิติการ ในอัตรา ๑,๕๐๐ บาท ต่อ คน (ต่อการประเมินหนึ่งราย)”
**** แก้ไขตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล เรื่องประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนและแต่งตั้งพนักงานเทศบาลให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นนอกระดับควบขั้นสูงในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสายนิติกร (ฉบับที่ ๒)
การปรับปรุงตำแหน่งสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสายงานนิติการ ระดับ ๘ (มท ๐๘๐๙.๒/ว๖๘๒)
[สิ่งที่ส่งมาด้วย]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น